วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สัมผัสวิถีง่ายงามในเมืองโรแมนติกกลางหุบเขา อำเภอปัว น่าน

สัมผัสวิถีง่ายงามในเมืองโรแมนติกกลางหุบเขา
อำเภอปัว น่าน

ในความเงียบสงบ บนถนนสายหนึ่ง สองข้างทางถูกโอบล้อมด้วยขุนเขาและท้องฟ้าสีคราม มุ่งหน้าสู่เมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรม ทุ่งข้าว กองฟาง และรอยยิ้มของผู้คน
อำเภอปัว จ.น่าน

บางคนกล่าวไว้ว่า สำหรับเมืองปัว ถ้าไม่ตั้งใจจริงก็ไปไม่ถึง แต่หากไปแล้วก็จะคิดถึงตลอดไป อำเภอปัว ตั้งอยู่ในจังหวัดน่าน จังหวัดที่ไม่ใช่ทางผ่านสู่เมืองท่องเที่ยวสำคัญทางภาคเหนือ หากแต่เป็นที่ที่มีธรรมชาติงดงาม มีวัฒนธรรมชาวไทลื้อ วัดวาอารามเก่าแก่ ชุมชนที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ของรอยยิ้มและผู้คน ใครที่ได้ไปสัมผัส ก็ยากที่จะลืม.....บนเส้นทางเขียวขจีของจังหวัดน่านสู่ อำเภอปัว มีความเป็นมาที่น่าประทับใจ เดิมเป็นอาณาจักรเล็กๆ ของล้านนา และเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวไทลื้อมาหลายร้อยปี มีความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินและแหล่งน้ำ วัฒนธรรมชาวไทลื้อคือการทอผ้าลายน้ำไหล ล้วนสะท้อนคติความเชื่อ ฝีมือเชิงช่าง และจินนาการทางศิลปะของชุมชนชาวไทลื้อได้อย่างดี
อำเภอปัว จ.น่าน

ชีวิตยามเช้าของชาวปัวเองก็มีเสน่ห์ไม่แพ้เมืองไหนๆ ความเรียบง่ายตามวิถีชนบทมีให้เห็นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะกาดเช้า ชาวบ้านนำของมาขาย พืชผักท้องถิ่นตามฤดูกาล ยอดฟักทอง ตำลึง ผักฮาก ผักหวาน รวมถึงอาหารพื้นบ้านไม่ว่าจะเป็น ตำขนุน ตำเตา ส่ามะเขือแจ้ แอบอ่อง ออหมู บรรยากาศยามเช้าจึงดูสดชื่นและมีชีวิตชีวาตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง ด้วยความน่ารักของวิถีความเป็นอยู่แบบชุมชน ผสานกับดินแดนแห่งขุนเขาที่งดงาม ทำให้เมืองเล็กๆ แห่งนี้ กลายเป็นเมืองที่อยู่ในใจของใครหลายคนที่เคยไปสัมผัส

อร่อยประจำถิ่น
แวะตลาดเช้าแล้วถามหา “แกงก้าม” อาหารพื้นบ้านแท้ๆ ของชาวน่าน ปรุงโดยหมูสามชั้นนำไปแกงกับน้ำพริกทางภาพเหนือ อาหารอีกชนิดหนึ่งที่อยากให้ลองแต่อาจจะหารับประทานยาก คือ “ยำหนัง” เป็นการนำเอาหนังวัวหรือควายตากแห้งมาเผาให้สุก หั่นเป็นชิ้นบางๆ แล้วนำไปแช่น้ำจนนุ่ม ก่อนนำมาคลุกกับพริกป่น แล้วปรุงด้วยเกลือและโรยหน้าด้วยผักไผ่ที่มีกลิ่นหอมยั่วน้ำลายยิ่งนัก

รู้ก่อนเดินทาง
  • เมื่อเดินทางถึงอำเภอปัว ถ้าอยากเห็นของแปลกๆ 1 ใน Unseen Thailand ก่อนถึงตัวอำเภอเล็กน้อย มีทางแยกเข้าสู่ วัดปราง ลองเลี้ยวเข้าไปดู “ต้นดิกเดียม” พรรณไม้อัศจรรย์ที่คล้ายมีอารมณ์ขันเพราะใบไม้จะสั่นไหวระริกทุกครั้ง ยามถูกคนสัมผัส

ที่มาของบทความ
หนังสือ 102 เที่ยวออกรส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น